ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)
ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) คือ ข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่างๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ว่าคนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไร ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ
ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นข้อมูลที่แสดงถึงลักษณะของสังคมไทยที่พึงประสงค์ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำของเครื่องชี้วัดว่า อย่างน้อยคนไทยควรจะมีระดับความเป็นอยู่ไม่ต่ำกว่าระดับไหนในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ และทำให้ประชาชนสามารถทราบได้ด้วยตนเองว่าในขณะนี้คุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว รวมไปถึงหมู่บ้าน/ชุมชน อยู่ในระดับใด มีปัญหาที่จะต้องแก้ไขในเรื่องใดบ้าง เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม อันเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศ
หลักการของข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน
1) ใช้เครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานเป็นเครื่องมือของกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของตนเองและหมู่บ้าน/ชุมชนว่าบรรลุตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานหรือไม่
2) ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยผ่านกระบวนการความจำเป็นพื้นฐาน นับตั้งแต่การกำหนดปัญหาความต้องการที่แท้จริงของหมู่บ้าน/ชุมชน ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
3) ใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานเป็นแนวทางในการคัดเลือกโครงการ กิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของหมู่บ้าน/ชุมชน สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการประสานระหว่างสาขาในด้านการปฏิบัติมากขึ้น
วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน
“ เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างน้อยผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน โดยมีเครื่องชี้วัด จปฐ. เป็นเครื่องมือ ”
แนวคิดและความเป็นมาของข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน
ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ที่ได้มีการจัดเก็บโดยประชาชน ด้วยความสนับสนุนของคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูลฯ ระดับตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ทราบว่าแต่ละครัวเรือนมีปัญหาอะไร หมู่บ้าน/ชุมชน และตำบลมีปัญหาอะไร และเมื่อทราบแล้วส่วนใดสามารถแก้ปัญหาเองได้ ครัวเรือนแต่ละครัวเรือน และคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนก็ต้องช่วยกันดำเนินการแก้ไข ส่วนใดที่ไม่สามารถดำเนินการได้เองก็ให้ขอรับการสนับสนุนบางส่วนหรือทั้งหมดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ส่วนราชการในภูมิภาค (อำเภอ จังหวัด) ส่วนราชการส่วนกลาง(กรม,กระทรวง) หรือในระดับรัฐบาลต่อไป
ปี 2525 แนวความคิดเกิดขึ้นครั้งแรก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดรูปแบบลักษณะของสังคมไทย และคนไทยที่พึงประสงค์ในอนาคต โดยกำหนดเป็นเครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานของคนไทย ซึ่งได้ข้อสรุปว่า “การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยจะต้องผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานทุกตัวชี้วัด”
ปี 2528 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2528 ให้มีการดำเนินการโครงการปีรณรงค์คุณภาพชีวิตและประกาศใช้เป็น “ปีรณรงค์คุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติ (ปรช.)” (20 สิงหาคม 2525- 31 ธันวาคม 2530) โดยใช้เครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน 8 หมวด 32 ตัวชี้วัด เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดคุณภาพชีวิตของคนไทยว่าอย่างน้อยคนไทยควรมีคุณภาพชีวิตในเรื่องอะไรบ้าง และควรมีระดับไหนในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ
ปี 2531 คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบโครงการปีรณรงค์ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบประสานการดำเนินการ ภายใต้ชื่องานว่า “งานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท (พชช.)”
ปี 2533 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานเป็นประจำทุกปี และมีการปรับปรุงเครื่องชี้วัด ทุก 5 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ
ปี 2555 อยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 – 2559) มีเครื่องชี้วัด 5 หมวด 30 ตัวชี้วัด
ปี 2560 อยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) มีเครื่องชี้วัด 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด
การกำหนดเครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)
ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน บริหารการจัดเก็บโดยคณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.) ประธานคณะกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นเลขานุการ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ทุกๆ 5 ปี คณะกรรมการอำนวยการฯ (พชช.) จะแต่งตั้งและมอบหมายให้คณะทำงานปรับปรุงเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้ปรับปรุง หรือพัฒนาเครื่องชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำหนดขึ้นใหม่ คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งจะร่วมกันกำหนดเครื่องชี้วัด ตัวชี้วัด เกณฑ์ชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน และหน่วยงานเจ้าภาพตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐานที่ต้องรับผิดชอบ นำผลการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ประโยชน์ของข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน
1) ประชาชน จะได้ทราบข้อมูลสถานการณ์คุณภาพชีวิตของตนเองและครัวเรือน สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น การดูแลสุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของสมาชิกครัวเรือน ฯลฯ
2) ประชาชน สามารถเข้าถึง และได้รับสวัสดิการด้านต่างๆ จากรัฐ โดยเฉพาะการช่วยเหลือ สนับสนุนจากภาครัฐอย่างทันท่วงที เมื่อได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือภัยพิบัติ เพราะได้ให้ข้อมูลของตนเองไว้กับภาครัฐ
3) ชุมชน โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน องค์กร หรือกลุ่มภายในหมู่บ้าน/ชุมชนจะได้ทราบ และ มีข้อมูลสถานการณ์คุณภาพชีวิตของประชาชน ครัวเรือน และหมู่บ้าน/ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อจะได้นำไปใช้ในการวางแผน กำหนดกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะได้ทราบและมีข้อมูลสถานการณ์คุณภาพชีวิตของประชาชน ครัวเรือน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตลอดจนภาพรวมในระดับประเทศเพื่อนำไปใช้กำหนดนโยบายวางแผนปฏิบัติการ กำหนดกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
5) ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน กลุ่ม องค์กร หรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตามสภาพปัญหาได้อย่างทั่วถึง ทุกพื้นที่ เขตชนบท หรือเขตเมืองทั้งในกรณีปกติ และกรณีเร่งด่วน
6) ภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลในภาพรวมระดับหมู่บ้าน/ชุมชนขึ้นไป ไปใช้ในการตัดสินใจ และวางแผนทางธุรกิจ ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกทางหนึ่ง
เครื่องชี้วัดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564)
เครื่องชี้วัดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) มี 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด ดังนี้
หมวดที่ 1 สุขภาพดี มี 7 ตัวชี้วัด
หมวดที่ 2 สภาพแวดล้อม มี 7 ตัวชี้วัด
หมวดที่ 3 การศึกษา มี 5 ตัวชี้วัด
หมวดที่ 4 การมีงานทำและรายได้ มี 4 ตัวชี้วัด
หมวดที่ 5 ค่านิยม มี 8 ตัวชี้วัด
หมวดที่ 1 สุขภาพดี มี 7 ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
1 | เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัม ขึ้นไป | สาธารณสุขจังหวัด |
2 | เด็กแรกเกิดได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรกติดต่อกัน | |
3 | เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค | |
4 | ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน | |
5 | ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม | |
6 | คนอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี | |
7 | คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที | การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด |
หมวดที่ 2 สภาพแวดล้อม มี 7 ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
8 | ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวร | พัฒนาสังคมฯ จังหวัด |
9 | ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม และบริโภคเพียงพอตลอดปีอย่างน้อยคนละ 5 ลิตร ต่อวัน | ท้องถิ่นจังหวัด |
10 | ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อย คนละ 45 ลิตรต่อวัน | ท้องถิ่นจังหวัด |
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
11 | ครัวเรือนมีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะ | สาธารณสุขจังหวัด |
12 | ครัวเรือนไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ | อุตสาหกรรมจังหวัด |
13 | ครัวเรือนมีการป้องกันอุบัติภัยและภัยธรรมชาติอย่างถูกวิธี | ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด |
14 | ครัวเรือนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน | ตำรวจภูธรจังหวัด |
หมวดที่ 3 การศึกษา มี 5 ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบ |
15 | เด็กอายุ 3 – 5 ปี ได้รับการบริการเลี้ยงดูเตรียมความพร้อม ก่อนวัยเรียน | ท้องถิ่นจังหวัด |
16 | เด็กอายุ 6 – 14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี | ศึกษาธิการจังหวัด |
17 | เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า | |
18 | คนในครัวเรือนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อ และยังไม่มีงานทำได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ | กศน. จังหวัด |
19 | คนอายุ 15 – 59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย และคิดเลขอย่างง่ายได้ |
หมวดที่ 4 การมีงานทำและรายได้ มี 4 ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบ |
20 | คนอายุ 15 – 59 ปี มีอาชีพ และรายได้ | แรงงานจังหวัด |
21 | คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพ และรายได้ | พัฒนาสังคมฯ จังหวัด |
22 | รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี | พัฒนาชุมชนจังหวัด |
23 | ครัวเรือนมีการเก็บออมเงิน | เกษตรและสหกรณ์จังหวัด |
หมวดที่ 5 ค่านิยม มี 8 ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบ |
24 | คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา | สาธารณสุขจังหวัด |
25 | คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่ | |
26 | คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง | พระพุทธศาสนาจังหวัด |
ตัวชี้วัดที่ | ชื่อตัวชี้วัด | หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
27 | ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน | สาธารณสุขจังหวัด
|
28 | ผู้พิการได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน | |
29 | ผู้ป่วยเรื้อรัง ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน | |
30 | ครัวเรือนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชุมชน หรือท้องถิ่น | – พัฒนาชุมชนจังหวัด
– ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด |
31 | ครอบครัวมีความอบอุ่น | พัฒนาสังคมฯ จังหวัด |